ร่วมด้วยช่วยแก้มลพิษฝุ่น เนสเทคเปิดตัว “ฟ้าใส” เครื่องฟอกอากาศฝีมือคนไทย

เนสเทคจับมือกับ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เปิดตัวเครื่องฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด แก้ปัญหาฝุ่นและ PM2.5 ที่สามารถฟอกอากาศบริสุทธิ์ได้ในอัตราสูงสุดถึง 120,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ตั้งเป้าภายในสามเดือนสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ได้จริง

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center–RISC) โดย บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) และหัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า RISC ทำการศึกษาและวิจัยเครื่องฟอกอากาศแบบไฮบริดร่วมกับ บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) มาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว ในที่สุดก็สามารถที่จะเปิดตัวต้นแบบหอฟอกอากาศระดับเมือง ภายใต้ชื่อ “ฟ้าใส” โดยมีที่มาจากการฟอกอากาศที่เต็มไปด้วยมลภาวะให้ใสสะอาด ปลอดฝุ่นพิษ PM 2.5 ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง

“ฟ้าใส” เป็นหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower) ที่ RISC คิดและพัฒนาร่วมกับบริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) โดยหอฟอกอากาศต้นแบบเครื่องแรกติดตั้งที่โครงการ 101 True Digital Park ที่เป็นศูนย์กลางแหล่งรวม Tech และ Startup Ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณ Family Park หน้าอาคารวิสซ์ดอม เอสเซ้นส์ สุขุมวิท ตลอดทั้งปี พ.ศ.2563 เพื่อทำการฟอกอากาศ และเก็บข้อมูลสภาพอากาศ การทำงานของระบบและตัวเครื่องเชิงลึกตลอดปี สำหรับการพัฒนาต่อยอดเครื่องฟอกอากาศระดับเมืองรุ่นต่อไปให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
“เครื่องนี้เป็นเครื่องต้นแบบใช้งบลงทุนไปประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าหอฟอกอากาศในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีราคาอยู่ที่ 15 ล้านบาท เรามีต้นทุนที่ถูกกว่า และหลังจากติดตั้งประมาณ 3 เดือนนับจากนี้ไป เราก็จะมาดูว่าต้องมีการปรับลดหรือเพิ่มเติมอะไรบ้าง ก่อนที่จะทำเป็นต้นแบบให้สำหรับทุกองค์กรสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้ โดยสามารถมาขอรายละเอียดและพิมพ์เขียวต้นแบบของหอฟอกอากาศ “ฟ้าใส” ได้ที่ RISC” รศ.ดร.สิงห์ กล่าว “เราเปิดให้ทุกคนนำแบบของหอฟอกอากาศ “ฟ้าใส”  ที่เราพัฒนา ไปสร้างได้ในทุกพื้นที่และทุกโครงการ เพราะเราต้องการให้ทุกคนนำเอางานวิจัยเราไปใช้ประโยชน์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม”
รศ.ดร. สิงห์ อธิบายว่า หอฟอกอากาศ “ฟ้าใส” มีหลักการทำงานเริ่มต้น ด้วยการใช้ใบพัดความเร็วสูงดึงอากาศเข้าไปในระบบ และแยกฝุ่นขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ด้วยความเร็วลมและการปล่อยละอองน้ำเพื่อการดักจับฝุ่น 3 ชั้น ต่อเนื่องด้วยระบบ Jet Venturi Scrubber ระบบทั้งหมดใช้น้ำ 70 ลิตร ทำให้สามารถฟอกอากาศได้ในอัตราสูงสุดถึง 120,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง โดยมีรัศมีรองรับไกลถึง 1 กิโลเมตร ต่อเครื่องขณะที่ระบบอัจฉริยะจะควบคุมการทำงานของมอเตอร์ใบพัดให้สอดคล้องกับความเข้มข้นของฝุ่นละออง จนระดับความเข้มข้น PM2.5 ลดลงถึงเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้หอฟอกอากาศ “ฟ้าใส” ยังใช้พลังงานจากแผงโซล่าร์เซลล์ ขนาด 3,850 วัตต์ ร่วมกับระบบแบตเตอรี่ จึงช่วยลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก โดยขณะนี้ทาง RISC ได้มีแผนการพัฒนาหอฟอกอากาศระดับเมือง เพื่อลดปัญหามลภาวะทางอากาศให้กับเมืองอย่างต่อเนื่อง
“จากปัญหาฝุ่นละอองพิษ PM 2.5 ที่ชาวกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงที่กำลังเผชิญอยู่ นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น RISC ในฐานะนักวิจัยและค้นคว้านวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต จึงมุ่งศึกษาวิจัยเน้นแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะปัญหาภายนอกอาคารอย่างเรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง จึงเกิดแนวคิดในการยกระดับคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น ด้วยการสร้างต้นแบบหอฟอกอากาศระดับเมือง ภายใต้ชื่อ “ฟ้าใส” ด้วยหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีได้ต่อยอดและพัฒนาขึ้นจากงานวิจัยที่ได้ศึกษาของ RISC ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีกับ NESTECH เทคโนโลยีดังกล่าว เชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ เปลี่ยนจากท้องฟ้าที่มืดมัวด้วยหมอกพิษ ให้กลับมาสดใสสมกับชื่อ ‘ฟ้าใส’ ” รศ.ดร.สิงห์ กล่าว
ไกรพิชิต เมืองวงษ์ ผู้บริหาร บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) และประธานกลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) กล่าวว่า “เนสเทค ประเทศไทย  รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมพัฒนากับ RISC และ MQDC ในการสร้างเครื่องต้นแบบ ‘ฟ้าใส’ หอฟอกอากาศระดับเมืองขึ้น เนสเทค ประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ‘ฟ้าใส’ จะเป็นต้นแบบของหอฟอกอากาศระดับเมืองที่เป็นกลไกสนับสนุนการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ทั้งนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว RISC โดย MQDC ได้ร่วมฉลองเทศกาลแห่งความสุขและมอบของขวัญปีใหม่ 2563 ให้กับคนกรุงเทพฯ โดยได้ทำการติดตั้ง “เครื่องฟอกอากาศระดับเมือง” ด้วยเทคโนโลยีเครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic air purifier) ใช้การตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต ด้วยการปล่อยประจุบวกให้ไปจับกับฝุ่นละอองแล้วดูดเข้าไปติดที่ระนาบที่มีขั้วตรงข้าม อากาศที่ออกมาจึงเป็นอากาศสะอาด ที่ลานกิจกรรมลานระหว่างสยามดิสคัฟเวอรี่และสยามเซ็นเตอร์ และในปีนี้วางแผนย้ายไปติดตั้งเครื่องฟอกอากาศระดับเมือง ในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศไม่ดี ระดับค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในปริมาณสูง เพื่อฟอกอากาศให้กับประชาชนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนั้น RISC ยังได้วางแผนการวิจัยต่อเนื่องเก็บข้อมูลฝุ่นละอองในพื้นที่ที่มีปริมาณรถยนต์สัญจรหนาแน่นและมีปริมาณฝุ่นจำนวนมาก เพื่อนำข้อมูลมาวิจัยต่อยอดพัฒนาเป็นเครื่องฟอกอากาศระดับเมืองรุ่นต่อไปที่ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

เผยโฉม “ผู้ร้ายตัวจริง” ที่ซุกซ่อนใน PM 2.5 หลบในบ้านก็หนีไม่พ้น

PM 2.5 แค่ได้ยินชื่อก็หวาดผวา หมายหัวเป็น ‘ผู้ร้าย’ หลงติดกับดักค่าความเข้มข้นสูง โดยไม่รู้ตัวว่า ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ แท้จริงแล้วคือใคร?
กรุงเทพมหานคร ณ เวลา 14.00 น. ของวันที่ 14 มกราคม 2563 ค่าความเข้มข้น PM2.5 แตะ 44.3 µg/m³ โดยหากนำมาเทียบกับค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็สูงเกินกว่า 2 เท่า แต่หากเทียบกับมาตรฐานไทยที่กำหนด 50 µg/m³ ก็จะไม่เกิน ซึ่งต้องมาลุ้นกันว่า หลังครบ 24 ชั่วโมง ค่าความเข้มข้นเฉลี่ยจะเกินค่ามาตรฐานไทยหรือไม่
แล้วหากสงสัยว่า ทำไมเมืองไทยถึงไม่กำหนดค่ามาตรฐานให้เทียบเท่ากับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก?

กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้ให้คำตอบสั้นๆ ไว้ว่า 
“WHO ไม่มีหลักฐานชี้ชัดระดับฝุ่นที่ปลอดภัย”
หากมาย้อนดูสถิติค่าความเข้มข้น PM 2.5 ปี 2562 แล้วว่ากันตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก เห็นได้ว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกินมาตรฐานถึง 96 วัน ขณะเดียวกันถ้าว่ากันตามมาตรฐานแบบไทยๆ ก็เกินค่ามาตรฐานเพียงแค่ 54 วัน ซึ่งวันที่ค่า PM 2.5 แย่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร คือ วันที่ 30 กันยายน 2562
“คนไทยติดกับดัก PM 2.5
สูงหรือต่ำไม่ใช่ประเด็น”
เมื่อความเข้มข้นสูงเป็นเพียงกับดัก แล้ว ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ คือใคร?
บอกใบ้นิดว่า ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ นั้นซุกซ่อนอยู่ภายใน PM 2.5
 

• เผยโฉม ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ ที่ซุกซ่อนใน PM 2.5

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้สนทนากับ ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ (ศ.11) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ถึงที่มาที่ไปและแหล่งกำเนิด PM 2.5 ฝุ่นพิษที่กำลังอาละวาดจนกลายเป็นวิกฤติอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็ได้เน้นย้ำอยู่ตลอดการสนทนาว่า “อย่าติดกับดัก PM 2.5”
 
 
เรื่องหนึ่งที่คนไทยอาจไม่เคยรู้เลย คือ สภาวะปกติ ‘ป่า’ ก็ปล่อย PM 2.5 และป่าปล่อย PM 2.5 อย่างไร?
ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช อธิบายว่า ต้นไม้จะมีการปล่อยสารเคมี เรียกว่า BVOC (Biogenic Volatile Organic Compounds) ซึ่งไม่ได้มีแค่สารเคมีเพียงตัวเดียว แต่มีกลุ่มใหญ่มาก เรียกว่า กลุ่ม Terpene ที่มี Monoterpene เป็นต้น พวกนี้เป็นสารเคมีตั้งต้นที่ไปทำปฏิกิริยาต่อ แล้วพัฒนาเป็น PM 2.5 ถ้าไปวัดช่วงที่ป่าขึ้นสูง PM 2.5 ก็จะสูงขึ้น จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ PM 2.5 สูงหรือต่ำ แต่จุดสำคัญอยู่ที่ว่า “อะไรต่างหากที่อยู่ใน PM 2.5”
ซึ่งนั่นคือ ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ เกริ่นมาในตอนต้นนั่นเอง
‘ผู้ร้ายตัวจริง’ ที่ซุกซ่อนอยู่ใน PM 2.5 เป็นอย่างไร?

“ป่าไม่ปล่อยโลหะหนัก”
“PM 2.5 เสมือนยานพาหนะ สารพิษทั่วไปถ้าไม่มียานพาหนะ ก็อยู่ไม่ได้ ต้องมีที่เกาะ สิ่งที่มีอนุภาคเล็กเท่าไร พื้นที่ผิวสัมผัสยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อพื้นที่ผิวสัมผัสเพิ่มขึ้น ก็จะปล่อยโอกาสให้พวกสารพิษ (มี 2 ประเภท คือ อินทรีย์และอนินทรีย์) มาเกาะ”
ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น โดยเปรียบร่างกายเป็นดั่งธนาคารสุขภาพ และมี PM 2.5 เป็นรถยนต์
“เวลาที่ ‘ธนาคารสุขภาพ’ ถูกปล้น สิ่งที่ควรถาม คือ โจรมากี่คน? มีใครบ้าง? ไม่ใช่รถยนต์มากี่คัน บางทีรถยนต์อาจจะน้อย แต่โจรมีเป็นร้อยๆ คนในรถยนต์คันเดียวกันก็ได้ หรือบางทีอาจมีรถยนต์เป็นร้อยๆ คัน แต่ไม่มีโจรเลยก็ได้ สมมติสถานที่แห่งหนึ่ง มีค่า PM 2.5 ต่ำกว่า 50 µg/m³ แต่สารพิษอาจมากกว่าสถานที่ที่มี PM 2.5 สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานก็เป็นได้”
ภาพฉายชัดแล้วว่า ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ ที่ซุกซ่อนอยู่ใน PM 2.5 นั้นคือ “สารพิษ”
และสารพิษที่เป็น ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ นั้นคือ ‘โลหะหนัก’
ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ขอยกตัวอย่าง 4 สารพิษ หรือ ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ ที่ซุกซ่อนใน PM 2.5 ให้ได้รับรู้ความอันตรายคร่าวๆ และเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้แน่นหนา
     ปรอท (Hg) หากได้รับและสะสมเป็นเวลานานจะทำให้มีอาการบวมและเจ็บ บางส่วนอาจเป็นอัมพาตได้ ที่สำคัญยังเป็นสาเหตุของการเกิด ‘โรคมินามาตะ’
     แคดเมียม (Cd) หากมีการดูดซึมเข้ากระเพาะอาหารและกระจายไปยังตับ ม้าม และลำไส้ อาจทำให้เกิดมะเร็ง ไตผิดปกติ และโรคความดันโลหิตสูง ที่สำคัญยังเป็นสาเหตุของการเกิด ‘โรคอิไต-อิไต’
     ตะกั่ว (Pb) ความอันตราย คือ สามารถเข้าได้ถึง 3 ทาง ได้แก่ อาหาร การหายใจ และผิวหนัง ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจับกับเม็ดเลือดแดงจะมีผลต่อตับ หัวใจ และเส้นเลือด รวมถึงภาวะเจริญพันธุ์ โครโมโซม
ส่วนอีกหนึ่งสารพิษ PAHs มีโอกาสได้รับสารทั้งทางปากและผิวหนัง เป็นสารก่อมะเร็งและสารก่อการกลายพันธุ์

แล้วรู้ไหมว่า สารพิษร้ายใน PM 2.5 ทำร้ายตัวเราได้ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่ เพราะเพียงแค่แม่ได้รับฝุ่น PM 2.5 ก็มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด และอาจทำให้ทารกเสี่ยงน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ด้วย
อีกหนึ่งสิ่งที่คนมักคิดกันว่า การหลบอยู่ภายในบ้านก็ช่วยให้รอดพ้น PM 2.5 ได้
จริงๆ แล้ว แม้แต่ภายในบ้านก็มีมลพิษทางอากาศเช่นกัน และส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากกิจกรรมของเราเอง
จากตัวเลขขององค์การอนามัยโลก พบว่า มีประชากรโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศภายในอาคารมากถึง 3.8 ล้านคนต่อปี ตัวต้นเหตุก็มาจาก “การทำอาหารภายในบ้าน” (ส่วนมากมาจากน้ำมันก๊าดและเชื้อเพลิงแข็ง เช่น ถ่าน) ซึ่งผู้หญิงและเด็กมีความเสี่ยงมากที่สุด โรคที่พบ คือ หัวใจขาดเลือดและปอดบวม คิดเป็นสัดส่วนเท่ากัน 27%, ปอดอุดกั้นเรื้อรัง 20%, เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน 18% และมะเร็งปอด 8%
เห็นได้ว่า PM 2.5 ในแต่ละพื้นที่ที่เราสูดเข้าไปในร่างกาย มีความอันตรายที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าในพื้นที่นั้นมีสารพิษใดเจือปน หรือแม้แต่ภายในบ้านเองที่ก็มีมลพิษทางอากาศเช่นกัน
และในการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ทุกๆ 10 µg/m³ ก็จะทำให้เพิ่มอัตราการเป็นมะเร็งปอด 36% และอาจทำให้อายุสั้นลง 0.98 ปี.

เริ่มแล้ว “Zero Waste” ชีวิตยุคใหม่ เปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์

เมื่อพฤติกรรมการบริโภค การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเพิ่มจำนวนประชากร ต่างส่งผลต่อปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุก ๆ ปี แบบที่เราแทบไม่รู้ตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของแนวคิด Waste หรือการทำให้ขยะเหลือศูนย์ ด้วยการเลือกใช้วัตถุที่สามารถนำกลับมาแปรรูปใช้ได้ใหม่ ลดปริมาณของเสียที่จะทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปจนถึงการบริโภคให้พอดี ใช้เงินอย่างคุ้มค่า ซึ่งคุณเองก็ทำได้นะ

ขยะมากมายรอการทำลาย
ภาพไม่ชวนตา เช่น กองขยะที่ล้นปรี่ออกมาจากถัง ขวดน้ำพลาสติกที่ไม่ได้แยกขยะ การใช้ถุงพลาสติกอย่างพร่ำเพรื่อ ภาพเหล่านี้มักพบเห็นตามเมืองใหญ่ ๆ ไม่เว้นแม้แต่ กรุงเทพมหานคร จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษในปี 2561 พบว่ากทม. มีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยกว่า 10,678 ตันต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับรถยนต์ขนาด 1,500 ซีซี จำนวน 8,988 คัน และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552-2561) มีการกำจัดขยะที่ถูกต้องเฉลี่ยเพียง 7.9 ล้านตันเท่านั้น จากปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยทั้งสิ้น 26.05 ล้านตัน การแก้ปัญหาขยะจึงไม่ได้สิ้นสุดแค่การนำไปทิ้ง แต่ต้องคำนึงถึงการทิ้งขยะอย่างถูกประเภทควบคู่ไปด้วย

Zero Waste ขยะเหลือศูนย์

ส่วนหนึ่งของปัญหาขยะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่บริโภคสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก โฟม ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อขยะคือภาระของทุกคน จึงเป็นที่มาของการใช้ชีวิตแบบ Zero Waste คือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะไม่สร้างขยะใหม่ ๆ โดยพยายามไม่ให้มีอะไรหลงเหลือจนเป็นขยะได้ โดยยึดหลักปฏิบัติง่าย ๆ 1A3R ประกอบด้วย Avoid หลีกเลี่ยงใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม Reduce ใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะให้น้อยลง Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ และ Recycle การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเราสามารถนำแนวทางนี้มาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของแต่ละคนได้ ด้วยการปฏิบัติตามภารกิจดังต่อไปนี้

1. ยิ่งนับยิ่งลด

เริ่มต้น Challenge ตัวเองด้วยการนับจำนวนขยะที่เราสามารถลดได้จากการปฏิบัติภารกิจในแต่ละวัน จะให้สนุกขึ้นอีกก็ต้องชวนเพื่อนมาร่วมอุดมการณ์ด้วย พร้อมกำหนดระยะเวลาในการแข่งขัน แล้วมาดูกันว่าใครสามารถลดจำนวนขยะได้มากกว่ากัน นอกจากจะสนุกแล้วยังสร้างแรงบันดาลใจให้เราทำสิ่งดี ๆ ต่อไปอีกด้วย

2. พกถุงผ้าคู่ใจ

ปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกเมื่อไม่จำเป็น ด้วยการพกถุงผ้าใบโปรด ลายเก๋ ๆ ทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน คงไม่มีใครอยากหิ้วถุงก๊อบแก๊บครั้งละสามสี่ถุง กรีนแล้วยังเก๋อีกด้วย เพราะเราคงไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าวันหนึ่ง ๆ เวลาเราไปช้อปเราซื้อของอะไรมาบ้าง อีกทั้งภาคเอกชนก็ให้ความร่วมมือเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสรรพสินค้าเซ็นทรัลและกลุ่มธุรกิจในเครือได้ให้สิทธิประโยชน์กับลูกค้าที่ปฏิเสธการรับถุงพลาสติก โดยลูกค้าที่นำถุงผ้ามาเอง จะได้รับคะแนนจากเดอะวันคาร์ด และทุกวันที่ 5 ของเดือนจะงดให้บริการถุงพลาสติกให้กับลูกค้า

3. ไม่รับช้อน ส้อม ตะเกียบพลาสติก

ช้อนส้อมพลาสติกอาจจะสะดวกในการใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่กลับใช้เวลาย่อยสลายหลายร้อยปี มิหนำซ้ำตะเกียบใช้แล้วทิ้งบางยี่ห้อจะใส่สารฟอกขาวเกินมาตรฐาน และอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ แถมยังแพ็คมาในถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง เพิ่มจำนวนขยะไปอีก จะดีกว่าไหมถ้าเราพกอุปกรณ์มาเอง ใช้สะดวกและแข็งแรงกว่าพลาสติกเยอะเลย คุ้มค่ากว่าเห็น ๆ ในต่างประเทศพัฒนาไปไกลถึงขั้นคิดค้นช้อนกินได้ที่ผลิตมาจากข้าวฟ่าง เพื่อเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมไร้พลาสติกในอนาคต

4. อุดหนุนร้านค้าแบบเติม

ในต่างประเทศมีร้านค้าแบบเติมหรือที่เรียกว่า Bulk Store ผุดขึ้นมามากมาย แต่ในไทยอาจจะยังไม่คุ้นชินนัก ซึ่งร้านแบบเติมแห่งแรกของไทยมีชื่อว่า “Refill Station ปั๊มน้ำยา” ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ Eco-friendly ที่สามารถใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้ โดยจะแบ่งขายสินค้าน้ำยาต่าง ๆ เป็นปริมาณตามต้องการ ซึ่งลูกค้าจะต้องนำภาชนะมาเอง โดยจะแบ่งขายตามน้ำหนักเพื่อลดปริมาณขยะที่มาจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง

5. ขวดเดียวแก้วเดิม เพิ่มเติมคือใช้ซ้ำ

วันหนึ่งเราดื่มน้ำคนละกี่แก้ว ยังไม่นับรวมชา กาแฟ น้ำหวานอื่น ๆ นับรวมกันแล้วเป็นขยะหลายชิ้นทีเดียว พกขวดน้ำประจำตัวดีกว่า ใช้แล้วล้างก็สะอาด ดีกว่าการใช้ขวดพลาสติก ที่เสี่ยงต่ออันตรายเมื่อใช้ซ้ำ อีกทั้งกระบวนการผลิตและการทำลายขวดพลาสติกก่อให้เกิดก๊าซพิษ ที่กระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อนนั่นเอง ปัจจุบันเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้ประกอบการหลายแห่งตระหนักถึงปัญหานี้ และสนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วมาเอง พร้อมมอบส่วนลดราคาเครื่องดื่มให้

6. ลด-เลิกการใช้หลอดพลาสติก
ปัญหาขยะพลาสติกล้นท้องทะเล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้ำ หลอดพลาสติกเป็นหนึ่งในขยะพลาสติกที่พบบ่อยที่สุดเมื่อมีการทำความสะอาดชายหาด มากพอ ๆ กับขวดน้ำ ถุงพลาสติกและแก้วพลาสติก ด้วยความที่หลอดมีน้ำหนักเบา ทำให้ขยะเหล่านี้พัดปลิวลงทะเล กระทบต่อสัตวน้ำในทะเลมีแนวโน้มเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย เนื่องจากกินพลาสติกเข้าไปนั่นเอง การใช้หลอดใช้ซ้ำอย่างเช่น แบบสเตนเลส ซิลิโคน แบบไม้ไผ่ หรือหลอดแก้วใส จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และอย่าลืมพกแปรงจิ๋วเพื่อทำความสะอาดให้ถูกสุขอนามัยด้วย