ร่วมด้วยช่วยแก้มลพิษฝุ่น เนสเทคเปิดตัว “ฟ้าใส” เครื่องฟอกอากาศฝีมือคนไทย

เนสเทคจับมือกับ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เปิดตัวเครื่องฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด แก้ปัญหาฝุ่นและ PM2.5 ที่สามารถฟอกอากาศบริสุทธิ์ได้ในอัตราสูงสุดถึง 120,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ตั้งเป้าภายในสามเดือนสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ได้จริง

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center–RISC) โดย บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) และหัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า RISC ทำการศึกษาและวิจัยเครื่องฟอกอากาศแบบไฮบริดร่วมกับ บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) มาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว ในที่สุดก็สามารถที่จะเปิดตัวต้นแบบหอฟอกอากาศระดับเมือง ภายใต้ชื่อ “ฟ้าใส” โดยมีที่มาจากการฟอกอากาศที่เต็มไปด้วยมลภาวะให้ใสสะอาด ปลอดฝุ่นพิษ PM 2.5 ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง

“ฟ้าใส” เป็นหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower) ที่ RISC คิดและพัฒนาร่วมกับบริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) โดยหอฟอกอากาศต้นแบบเครื่องแรกติดตั้งที่โครงการ 101 True Digital Park ที่เป็นศูนย์กลางแหล่งรวม Tech และ Startup Ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณ Family Park หน้าอาคารวิสซ์ดอม เอสเซ้นส์ สุขุมวิท ตลอดทั้งปี พ.ศ.2563 เพื่อทำการฟอกอากาศ และเก็บข้อมูลสภาพอากาศ การทำงานของระบบและตัวเครื่องเชิงลึกตลอดปี สำหรับการพัฒนาต่อยอดเครื่องฟอกอากาศระดับเมืองรุ่นต่อไปให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
“เครื่องนี้เป็นเครื่องต้นแบบใช้งบลงทุนไปประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าหอฟอกอากาศในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีราคาอยู่ที่ 15 ล้านบาท เรามีต้นทุนที่ถูกกว่า และหลังจากติดตั้งประมาณ 3 เดือนนับจากนี้ไป เราก็จะมาดูว่าต้องมีการปรับลดหรือเพิ่มเติมอะไรบ้าง ก่อนที่จะทำเป็นต้นแบบให้สำหรับทุกองค์กรสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้ โดยสามารถมาขอรายละเอียดและพิมพ์เขียวต้นแบบของหอฟอกอากาศ “ฟ้าใส” ได้ที่ RISC” รศ.ดร.สิงห์ กล่าว “เราเปิดให้ทุกคนนำแบบของหอฟอกอากาศ “ฟ้าใส”  ที่เราพัฒนา ไปสร้างได้ในทุกพื้นที่และทุกโครงการ เพราะเราต้องการให้ทุกคนนำเอางานวิจัยเราไปใช้ประโยชน์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม”
รศ.ดร. สิงห์ อธิบายว่า หอฟอกอากาศ “ฟ้าใส” มีหลักการทำงานเริ่มต้น ด้วยการใช้ใบพัดความเร็วสูงดึงอากาศเข้าไปในระบบ และแยกฝุ่นขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ด้วยความเร็วลมและการปล่อยละอองน้ำเพื่อการดักจับฝุ่น 3 ชั้น ต่อเนื่องด้วยระบบ Jet Venturi Scrubber ระบบทั้งหมดใช้น้ำ 70 ลิตร ทำให้สามารถฟอกอากาศได้ในอัตราสูงสุดถึง 120,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง โดยมีรัศมีรองรับไกลถึง 1 กิโลเมตร ต่อเครื่องขณะที่ระบบอัจฉริยะจะควบคุมการทำงานของมอเตอร์ใบพัดให้สอดคล้องกับความเข้มข้นของฝุ่นละออง จนระดับความเข้มข้น PM2.5 ลดลงถึงเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้หอฟอกอากาศ “ฟ้าใส” ยังใช้พลังงานจากแผงโซล่าร์เซลล์ ขนาด 3,850 วัตต์ ร่วมกับระบบแบตเตอรี่ จึงช่วยลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก โดยขณะนี้ทาง RISC ได้มีแผนการพัฒนาหอฟอกอากาศระดับเมือง เพื่อลดปัญหามลภาวะทางอากาศให้กับเมืองอย่างต่อเนื่อง
“จากปัญหาฝุ่นละอองพิษ PM 2.5 ที่ชาวกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงที่กำลังเผชิญอยู่ นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น RISC ในฐานะนักวิจัยและค้นคว้านวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต จึงมุ่งศึกษาวิจัยเน้นแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะปัญหาภายนอกอาคารอย่างเรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง จึงเกิดแนวคิดในการยกระดับคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น ด้วยการสร้างต้นแบบหอฟอกอากาศระดับเมือง ภายใต้ชื่อ “ฟ้าใส” ด้วยหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีได้ต่อยอดและพัฒนาขึ้นจากงานวิจัยที่ได้ศึกษาของ RISC ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีกับ NESTECH เทคโนโลยีดังกล่าว เชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ เปลี่ยนจากท้องฟ้าที่มืดมัวด้วยหมอกพิษ ให้กลับมาสดใสสมกับชื่อ ‘ฟ้าใส’ ” รศ.ดร.สิงห์ กล่าว
ไกรพิชิต เมืองวงษ์ ผู้บริหาร บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) และประธานกลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) กล่าวว่า “เนสเทค ประเทศไทย  รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมพัฒนากับ RISC และ MQDC ในการสร้างเครื่องต้นแบบ ‘ฟ้าใส’ หอฟอกอากาศระดับเมืองขึ้น เนสเทค ประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ‘ฟ้าใส’ จะเป็นต้นแบบของหอฟอกอากาศระดับเมืองที่เป็นกลไกสนับสนุนการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ทั้งนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว RISC โดย MQDC ได้ร่วมฉลองเทศกาลแห่งความสุขและมอบของขวัญปีใหม่ 2563 ให้กับคนกรุงเทพฯ โดยได้ทำการติดตั้ง “เครื่องฟอกอากาศระดับเมือง” ด้วยเทคโนโลยีเครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic air purifier) ใช้การตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต ด้วยการปล่อยประจุบวกให้ไปจับกับฝุ่นละอองแล้วดูดเข้าไปติดที่ระนาบที่มีขั้วตรงข้าม อากาศที่ออกมาจึงเป็นอากาศสะอาด ที่ลานกิจกรรมลานระหว่างสยามดิสคัฟเวอรี่และสยามเซ็นเตอร์ และในปีนี้วางแผนย้ายไปติดตั้งเครื่องฟอกอากาศระดับเมือง ในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศไม่ดี ระดับค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในปริมาณสูง เพื่อฟอกอากาศให้กับประชาชนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนั้น RISC ยังได้วางแผนการวิจัยต่อเนื่องเก็บข้อมูลฝุ่นละอองในพื้นที่ที่มีปริมาณรถยนต์สัญจรหนาแน่นและมีปริมาณฝุ่นจำนวนมาก เพื่อนำข้อมูลมาวิจัยต่อยอดพัฒนาเป็นเครื่องฟอกอากาศระดับเมืองรุ่นต่อไปที่ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต
Posted in สิ่งแวดล้อม.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *